วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันลอยกระทง



วันลอยกระทง


กำหนดวันลอยกระทง

วันลอยกระทงของทุกปีจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย หรือถ้าเป็นปฏิทินจันทรคติล้านนาจะตรงกับเดือนยี่ และหากเป็นปฏิทินสุริยคติจะราวเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเดือน 12 นี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศจึงเย็นสบาย และอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลาก มีน้ำขี้นเต็มฝั่ง ทำให้เห็นสายน้ำอย่างชัดเจน อีกทั้งวันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ทำให้สามารถเห็นแม่น้ำที่มีแสงจันทร์ส่องกระทบลงมา เป็นภาพที่ดูงดงามเหมาะแก่การชมเป็นอย่างยิ่ง


ประวัติความเป็นมาของวันลอยกระทง

  ประเพณีลอยกระทงนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมายาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียญ" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงอย่างแน่นอน
          ในสมัยก่อนนั้นพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า
          ก่อนที่นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วงจะคิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม ดังปรากฎในหนังสือนางนพมาศที่ว่า
          "ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกษรสีต่าง ๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้ป็นลวดลาย..."
          เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย ดังพระราชดำรัสที่ว่า "ตั้งแต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตตฤกษ์วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานทีตราบเท่ากัลปาวสาน" พิธีลอยกระทงจึงเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          ประเพณีลอยกระทงสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า "เรือลอยประทีป" ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ปัจจุบันการลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย




เหตุผลและความเชื่อของการลอยกระทง

สาเหตุที่มีประเพณีลอยกระทงขึ้นนั้น เกิดจากความเชื่อหลาย ๆ ประการของแต่ละท้องที่ ได้แก่
          1.เพื่อแสดงความสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำที่ให้เราได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ตลอดจนเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในน้ำ อันเป็นสาเหตุให้แหล่งน้ำไม่สะอาด
          2.เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ และได้ทรงประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่าแม่น้ำเนรพุทท
          3.เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพราะการลอยกระทงเปรียบเหมือนการลอยความทุกข์ ความโศกเศร้า โรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ให้ลอยตามแม่น้ำไปกับกระทง คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์
          4.เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุต ที่ชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล โดยมีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารได้ 
          5.เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมของไทยไว้มิให้สูญหายไปตามกาลเวลา และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
          6.เพื่อความบันเทิงเริงใจ เนื่องจากการลอยกระทงเป็นการนัดพบปะสังสรรค์กันในหมู่ผู้ไปร่วมงาน
          7.เพื่อส่งเสริมงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อมีเทศกาลลอยกระทง มักจะมีการประกวดกระทงแข่งกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เกิดความคิดแปลกใหม่ และยังรักษาภูมิปัญหาพื้นบ้านไว้อีกด้วย

ประเพณีลอยกระทงในแต่ละภาค 


          ลักษณะการจัดงานลอยกระทงของแต่ละจังหวัด และแต่ละภาคจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันคือ


ภาคเหนือ (ตอนบน) จะเรียกประเพณีลอยกระทงว่า "ยี่เป็ง" อันหมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่  (เดือนยี่ถ้านับตามล้านนาจะตรงกับเดือนสิบสองในแบบไทย) โดยชาวเหนือจะนิยมประดิษฐ์โคมลอย หรือที่เรียกว่า "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" โดยการใช้ผ้าบางๆ แล้วสุมควันข้างใต้ ให้โคมลอยขึ้นไปในอากาศ เพื่อเป็นการบูชาพระอุปคุตต์ ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล ตรงกับคติของชาวพม่า



จังหวัดสุโขทัย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีชื่อเสียงในเรื่องประเพณีลอยกระทง ด้วยความเป็นจังหวัดต้นกำเนิดของประเพณีนี้ โดยการจัดงาน ลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ที่จังหวัดสุโขทัยถูกฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2520 ซึ่งจำลองบรรยากาศงานมาจากงานลอยกระทงสมัยกรุงสุโขทัย และหลังจากนั้นก็มีการจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟขึ้นที่จังหวัดสุโขทัยทุก ๆ ปี มีทั้งการจัดขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล และไฟพะเนียง



ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งานลอยกระทงจะเรียกว่า เทศกาลไหลเรือไฟ โดยจัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ทุกปีในจังหวัดนครพนม มีการนำหยวกกล้วย หรือวัสดุต่าง ๆ มาตกแต่งเรือ และประดับไฟอย่างสวยงาม และตอนกลางคืนจะมีการจุดไฟปล่อยกระทงให้ไหลไปตามลำน้ำโขง

credit : http://hilight.kapook.com/view/30438


ทอดกฐิน



ประเพณีทอดกฐิน

                     ประเพณีการทอดกฐิน ในแต่ละปีกำหนดให้มีการจัดทอดกฐินขึ้นภายใน 1 เดือน หลังประเพณีออกพรรษา โดยวัดที่จะสามารถรับกฐินได้ ต้องมีพระภิกษุจำพรรษาโดยไม่ขาดพรรษาเลย ไม่ต่ำกว่า 5 รูป และแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้ปีละ 1 ครั้ง
การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน




กฐินแปลว่าอะไร?
คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อนแล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มี ความชำนาญเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอเหมือนจักรเย็บผ้า ในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตรพระมหาโมคคัลลานะพระมหากัสสปะแม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)

ผู้ประสงค์จะทอดกฐินจะทำอย่างไร
พุทธศาสนิกชนทั่วไป ย่อมถือกันว่า การทำบุญทอดกฐินเป็นกุศลแรง เพราะเป็นกาลทาน ทำได้เพียงปีละ 1 ครั้งและต้องทำในกำหนดเวลาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ดังนั้นถ้ามีความเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐินบ้างแล้ว พึ่งปฏิบัติดังต่อไปนี้
จองกฐิน เมื่อจะไปจองกฐิน ณ วัดใด พอเข้าพรรษาแล้ว พึงไปมนัสการสมภารเจ้าอาวาสวัดนั้น กราบเรียนแก่ท่านว่าตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐิน แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้น เพื่อให้รู้ทั่ว ๆ กัน การที่ต้องไปจองก่อนแต่เนิ่น ๆ ก็เพื่อให้ได้ทอดวัดที่ตนต้องการ หากมิเช่นนั้นอาจมีผู้อื่นไปจองก่อน นี้กล่าวสำหรับวัดราษฎร์ ซึ่งราษฎรมีสิทธิจองได้ทุกวัด แต่ถ้าวัดนั้นเป็นวัดหลวง อันมีธรรมเนียมว่าต้องได้รับกฐินหลวงแล้ว ทายกนั้น ครั้นกราบเรียนเจ้าอาวาสท่านแล้ว ต้องทำหนังสือยื่นต่อกองสัมฆการีกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ขอเป็นกฐินพระราชทาน ครั้นคำอนุญาตตกไปถึงแล้ว จึงจะจองได้

เตรียมการ ครั้นจองกฐินเรียบร้อยแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้ว จะทอดกฐินในวันใด ก็กำหนดให้แน่นอน แล้วกราบเรียนให้เจ้าอาวาสวัดท่านทราบวันกำหนดนั้น ถ้าเป็นอย่างชนบท สมภารเจ้าวัด ก็บอกติดต่อกับชาวบ้านว่าวันนั้นว่านี้เป็นวันทอดกฐิน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดหาอาหารไว้เลี้ยงพระ และเลี้ยงผู้มาในการทอดกฐิน
ครั้นกำหนดวันทอดกฐินแล้ว ก็เตรียมจัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ตามแต่มีศรัทธามากน้อย (ถ้าจัดเต็มที่มักมี 3 ไตร คือ องค์ครอง 1 ไตร คู่สวดองค์ละ 1 ไตร)
วันงาน พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น 2 วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีการมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา รุ่งขึ้นเป็นที่วัดทอด ถ้าไปทางบก ก็มีแห่ทางขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวงหรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้น ถ้าไปทางเรือก็มีแห่งทางขบวนเรือสนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระเพล การทอดกฐิน จะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้ สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระ ถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือเฟือ แม้ข้อนี้ ก็สุดแต่กาละเทศะแห่งท้องถิ่น
อนึ่ง ถ้าตั้งองค์กฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบทตอนเย็น ก็แห่งองค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลองรุ่งขึ้น เลี้ยงพระเช้าแล้ว ทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล 
การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้ากฐินนั้น คือ เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพ อุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผ้าไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระ มีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้
พิธีกรานกฐิน
พิธิกรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะคือภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้นนำผ้ากฐินไปทำ เป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง เย็บ ย้อม แห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร เสร็จแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนา กล่าวคือเรื่องประวัติกฐินและอานิสงส์ครั้งแล้วภิกษุผู้รับผ้ากฐิน นั่งคุกเข่าตั้งนะโม 3 จบ แล้วเปล่งวาจาในท่ามกลางชุมนุมนั้น ตามลักษณะผ้าที่กรานดังนี้


ถ้าเป็นผ้าสังฆาฏิ เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมายสงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสัมฆาฎินี้ (ในเวลาว่านั้นไม่ต้องว่าคำแปลนี้) 3 จบ
ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์ เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินาอุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าจ้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอุตตราสงค์นี้ 3 จบ
ถ้าเป็นผ้าอันตรวาสก (สบง) เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอันครวาสกนี้ 3 จบ
ลำดับนั้น สงฆ์นั่งคุกเข่าพร้อมกันแล้วกรานพระ 3 หนเสร็จแล้ว ตั้งนโมพร้อมกัน 3 จบ แล้วท่านผู้ได้รับผ้ากฐินหันหน้ามายังกลุ่มภิกษุสงษ์ กล่าวคำอนุโมทนาประกาศดังนี้
"อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบ (แปลว่า อาวุโส! กฐินสงฆ์กราบแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าขออนุโมทนา)
คำว่า อาวุโส นั้น ถ้ามีภิกษุอื่นซึ่งมีพรรษามากกว่าภิกษุผู้ครองกฐินแม้เพียงรูปเดียวก็ตาม ให้เปลี่ยนเป็น ภนฺเต
ต่อนั้น สงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ พร้อมกันแล้วให้ภิกษุทั้งปวง อนุโมทนาเรียงองค์กันไปทีละรูป ๆ ว่า "อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินฺ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบสงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ ทำดังนี้ จนหมดภิกษุผู้ประชุมอนุโมทนา
 (ถ้าผู้อนุโมทนา มีพรรษษแก่กว่าสงฆ์ทั่งปวง ให้เปลี่ยนคำว่า ภนฺเต เป็น อาวุโส)
ในการว่าคำอนุโมทนานี้พึงนั่งคุกเข่าประนมมือเสร้จแล้วจึงนั่งพับเพียงลง
เมื่อเสร็จแล้ว ให้นั่งพร้อมกันคุกเข่าประนมมือ หันหน้าตรงต่อพระพุทธปฏิมา ว่าพร้อมกันอีก 3 จบ แต่ให้เปลี่ยนคำว่า อนุโมทามิ เป็น อนุโมทาม เป็นอันเสร็จไปชั้นหนึ่งต่อแต่นั้นกราบพระ 3 หน นั่งพับเพียบ สวดปาฐะและคาถาเนื่องด้วยกรานกฐิน จบแล้วก็เป็นเสร็จพิธีการกรานกฐินอานิสงส์


credit : http://www.med.cmu.ac.th/secret/admin/web/custom5_3.html

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

My Profile


MY PFOFILE


ชื่อ : เสกข์ สังข์วร
ชื่อเล่น : ไตเติ้ล
ชั้น ม.3/3 เบขที่ 28
โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
วันเกิด : 13 สิงหาคม 2540
วิชาที่ชอบ : วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ
สีที่ชอบ : น้ำเงิน
กีฬาที่ชอบ : บาสเก็ตบอล
งานอดิเรก : ถ่ายภาพ
อาหารที่ชอบ : ก๋วยเตี๋ยว
อาชีพที่อยากเป็น : นักบิน
ศิลปินที่ชอบ : Muse

Facebook : https://www.facebook.com/sek.sung