วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

วันสงกรานต์


วันสงกรานต์




สำหรับคำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า "สํ-กรานต" ซึ่งแปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือการย้ายที่ เคลื่อนที่ โดยหมายความอีกนัยนึงว่า เป็นการเข้าสู่ศักราชราศีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่นั้นเอง ส่วนเทศกาลสงกรานต์นั้น เป็นประเพณีเก่าแก่ของคนไทยสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณคู่กันมากับประเพณีตรุษจีน จึงมีการเรียกรวมกันว่า "ประเพณีตรัษสงกรานต์" ซึ่งหมายถึง ประเพณีส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ นั่นเอง 
          ทั้งนี้ วันหยุดสงกรานต์ เป็นวันหยุดราชการ แบ่งออกเป็น 3 วัน ได้แก่ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์, วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา, วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก ส่วนกิจกรรมหลัก ๆ ที่ทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็จะเป็นการทำความสะอาดบ้านเรือน การร่วมกันทำบุญทำทาน สรงน้ำพระ รดน้ำของพรผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำคลายร้อนกัน เป็นต้น 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์ 
ในสมัยโบราณ คนไทยถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งตกราว ๆ เดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะถือว่าเป็นช่วงฤดูหนาว ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นวันที่ 1 เมษายน แต่เมื่อในยุคสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี พ.ศ. 2483 ได้เปลี่ยนวันปีใหม่ให้เป็นสากล คือวันที่ 1 มกราคม แต่กระนั้น คนไทยส่วนมาก็คุ้นเคยกับวันปีใหม่ไทยในเดือนเมษายน จึงกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทิน เกรกอรี่
          นอกจากประเทศไทยได้ถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่แล้ว รู้หรือไม่ว่า ประเทศมอญ พม่า ลาว  ก็นำเอาวันดังกล่าว เป็นเทศกาลฉลองวันขึ้นปีใหม่ของเขาด้วยเช่นกัน

          สำหรับภาษาและความเชื่อของวันสงกรานต์ในแต่ละภาคก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ดังนี้ ...

ภาคกลาง 
          วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" และเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ
          วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันเนา" ซึ่งในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ประกาศให้เป็นวันครอบครัว
          วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันเถลิงศก" คือวันเริ่มจุลศักราชใหม่

ภาคเหนือ 
          วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันสังขารล่อง" ซึ่งมีความหมายว่า อายุสิ้นไปอีกปี
          วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันเน่า" เป็นวันห้ามพูดจาหยาบคาย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าและไม่เจริญ
          วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันพญาวัน" คือวันเปลี่ยนศกใหม่

ภาคใต้ 
   
          วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันเจ้าเมืองเก่า"  หรือ "วันส่งเจ้าเมืองเก่า" เพราะเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์
          วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันว่าง" คือวันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง ชาวบ้านก็จะงดงานอาชีพต่าง ๆ แล้วไปทำบุญที่วัด
          วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันรับเจ้าเมืองใหม่" คือวันรับเทวดาองค์ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิมที่ย้ายไปประจำเมืองอื่น



คำว่า "ดำหัว" ปกติแปลว่า "สระผม" แต่ประเพณีสงกรานต์ล้านนา หมายถึง การแสดงความเคารพ และขออโหสิกรรมที่ตนอาจจะเคยล่วงเกิน รวมทั้งขอพรจากผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ครูบาอาจารย์ หรือผู้บังคับบัญชา ส่วนมากจะใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยนำไปไหว้ และผู้ใหญ่ก็จะจุ่มเอาน้ำแปะบนศีรษะก็เป็นอันเสร็จพิธี 



          อย่างไรก็ตาม พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกครอบครัว หรือชุมชนบ้านเรือนละแวกใกล้เคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปตามสมัย และค่านิยม จากเดิมชาวบ้านจะใช้น้ำเป็นตัวแทนในการประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ โดยถือว่า น้ำจะแก้ความร้อนของฤดูร้อน และใช้ช่วงเวลาดังกล่าวขอพรจากผู้ใหญ่ รวมไปถึงระลึกบุญคุณต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ส่วนประเพณีสงกรานต์ในสมัยใหม่นั้น จะเป็นประเพณีกลับบ้านเกิดเสียมากกว่า หรือถือว่าเป็นวันครอบครัว


Credit : http://hilight.kapook.com/view/21047

วันจักรี


วันจักรี


ในทุกๆ วันที่ 6 เมษายน ของทุกปีนั้นถือเป็นสำคัญอีกวันหนึ่งของไทย นั่นคือ วันจักรี ซึ่งเป็นวันที่เราจะร่วมกันระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รวมถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงนำประวัติและความสำคัญของวันนี้

          ประวัติการตั้งชื่อวันจักรี นั้นเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปี พ.ศ. 2325 นั้นเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และยังทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทยอีกด้วย และยังเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรีซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน 

          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 4 เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมาและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงข้าราชการและประชาชน ได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง 

          โดยได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และได้มีการย้ายที่อีกหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นพระพี่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาทหรือพระที่นั่งศิวาลัยปราสาท ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ย้ายพระบรมรูปของทั้ง 4 พระองค์ มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 

          ซึ่งการซ่อมแซม ก่อสร้าง และประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล มาแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายน ในปีนั้น และได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า "วันจักรี" 

          และทั้งหมดก็คือความเป็นมาของวันจักรี ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่วันหยุดราชการธรรมดาๆแต่เป็นวันที่ประชาชนทุกคนควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์ 


Credit : http://hilight.kapook.com/view/22420

วันมาฆบูชา


วันมาฆบูชา



ความหมายของวันมาฆบูชา

          คำว่า "มาฆะ" นั้น เป็นชื่อของเดือน 3 ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 

การกำหนดวันมาฆบูชา

          การกำหนดวันมาฆบูชาตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้นจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม

 ความสำคัญและประวัติของวันมาฆบูชา

          ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์"แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่างๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์"
 ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมๆ กันถึง 4 ประการ อันได้แก่
          1.วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
          2.มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
          3.พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
          4.พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"
          และเพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งคำว่า "จาตุรงคสันนิบาต" นี้ มีความหมายตามการแยกศัพท์คือ
          จาตุร แปลว่า 4          องค์ แปลว่า ส่วน          สันนิบาต แปลว่า ประชุม
          ดังนั้น "จาตุรงคสันนิบาต" จึงหมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ 4" นั่นเอง          



          ทั้งนี้วันมาฆบูชาถือว่าเป็นวันพระธรรม ขณะที่วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์







กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา

          การปฏิบัติตนสำหรับพุทธศาสนิกชนในวันมาฆบูชาคือ คือ ในตอนเช้า ควรไปทำบุญตักบาตร ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา หรือจัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหาร ช่วงบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา เมื่อถึงตอนค่ำ นำดอกไม้ ธูปเทียนไปเวียนเทียน 3 รอบที่พระอุโบสถ โดยการเวียนเทียนนั้นจะเวียนขวา จำนวน 3 รอบ และช่วงเวลาที่เดินอยู่นั้นให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นอกจากนี้พุทธศาสนิกชนควรบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามสถานที่ต่างๆ และรักษาศีล สำหรับตามบ้านเรือน สถานที่ราชการ จะมีการประดับธงชาติ ธงธรรมจักร เพื่อระลึกถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 



credit : http://hilight.kapook.com/view/20696



วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

วันตรุษจีน

วันตรุษจีน

                ตรุษจีน เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน เพราะชาวจีนถือว่า วันตรุษจีน คือวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน เช่นเดียวกับสงกรานต์วันปีใหม่ไทย ดังนั้นชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้เป็นอย่างยิ่ง และมีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ของคนเชื้อสายจีน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีพิธีเฉลิมฉลองแตกต่างกันไป สำหรับปี 2556 นี้ วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์

สำหรับที่มาของ วันตรุษจีน นั้น เชื่อกันว่าประเพณีนี้มีมานานกว่าสี่พันปีแล้ว จัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เดิมที่ไม่ได้เรียกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่มีชื่อเรียกต่างกันตามยุคสมัย
นั่นคือเมื่อ 2100 ปีก่อนคริสตศักราชจะเรียกว่า "ซุ่ย" ซึ่งมีความหมายถึงการโคจรครบหนึ่งรอบของดาวจูปิเตอร์ จนกระทั่งต่อมาในยุค 1000 กว่าปีก่อนคริสตศักราช เทศกาลตรุษจีนจะถูกเรียกว่า "เหนียน" หมายถึงการเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์นั่นเอง

นอกจากนี้ วันตรุษจีน ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันชุงเจ๋" ซึ่งหมายถึงเทศกาลดูใบไม้ผลิ หรือขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ เพราะช่วงก่อนตรุษจีนนั้นตรงกับฤดูหนาว ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ชาวจีนจึงสามารถทำนา ทำสวน ได้อีกครั้งหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวมานั่นเอง

ส่วนการกำหนด วันตรุษจีน นั้น ตามประเพณีเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีน และถือว่าคืนวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ส่วนวันที่ 1 เดือน 1 คือวันชิวอิก หมายถึงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ

การเตรียมงานเพื่อการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนนั้น จะเริ่มขึ้นตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อน วันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) โดยผู้คนจะเริ่มซื้อข้าวของต่างๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน และเตรียมทำความสะอาดครั้งใหญ่ ตั้งแต่ชั้นบนลงชั้นล่าง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นการปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไป ภายในบ้าน ทั้งประตู หน้าต่าง จะประดับประดาไปด้วยสีแดง และกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพรให้อายุยืน ร่ำรวย อยู่ดีมีสุข ฯลฯ

จากนั้นครอบครัวจะร่วมรับประทานอาหารที่ล้วนแต่มีความหมายมงคลทั้งสิ้น เช่น กุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งความโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาหร่าย จะนำความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร หลังจากทานอาหารค่ำแล้ว ทุกคนในครอบครัวจะนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับ วันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง


credit : http://hilight.kapook.com/view/19792

วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

วันครู


 
วันครู
 
 
ความหมายของครู

ครู หมายถึง ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมีผู้กล่าวว่ามาจากคำว่า ครุ (คะ-รุ) ที่แปลว่า "หนัก" อันหมายถึง ความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้น นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย กว่าคน ๆ หนึ่งจะเติบโตเป็นผู้มีวิชาความรู้ และเป็นคนดีของสังคม ผู้เป็น "ครู" จะต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเลย ซึ่งในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง นอกเหนือไปจากพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือน "ครูคนแรก" ของเราแล้ว การที่เด็ก ๆ จะดำรงชีพต่อไปได้ในสังคม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี "ครู" ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ เพื่อปูพื้นฐานไปสู่หนทางทำมาหากินในภายภาคหน้าด้วย ดังนั้น "ครู" จึงเป็นบุคคลสำคัญที่เราทุกคนควรจะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน

ด้วยเหตุนี้เอง "การบูชาครู" หรือ "การไหว้ครู" จึงเป็นประเพณีสำคัญที่มีมาแต่โบราณ และมีอยู่ในแทบทุกสาขาอาชีพของคนไทย ถือเป็นพิธีกรรมที่แสดงความเคารพ และระลึกถึงพระคุณของบูรพาจารย์ ครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์วิชาความรู้ให้ ทำให้เราสามารถนำไปประกอบวิชาชีพ สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต
 
ในความหมายของ "การไหว้ครู" ก็คือ การที่ศิษย์แสดงความเคารพ ยอมรับนับถือครูบาอาจารย์อย่างจริงใจ ว่าท่านเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความรู้ ศิษย์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางวิชาการ จึงพร้อมใจกันปวารณาตัวรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เพื่อให้บรรลุปลายทางแห่งการศึกษาตามที่ตั้งใจเอาไว้ ซึ่งการไหว้ครูนี้ นอกจากจะเป็นธรรมเนียมอันดีงามที่มีส่วนโน้มน้าวจิตใจคนให้รักษาคุณความดี และช่วยธำรงรักษาวิทยาการให้สืบเนื่องต่อไปแล้ว การที่ศิษย์แสดงความเคารพยอมรับนับถือครูตั้งแต่เบื้องต้น ก็มีส่วนทำให้ครูเกิดความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ อยากมอบวิชาความรู้ให้อย่างเต็มที่ และศิษย์เองก็จะมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด เกิดมั่นใจว่า ตนจะมีผู้คุ้มครองดูแล สั่งสอนให้ไปสู่หนทางแห่งความดีงาม และความเจริญก้าวหน้าแน่นอน

พิธีไหว้ครู หรือ การไหว้ครู นี้มีหลายอย่าง เช่น การไหว้ครูนาฏศิลป์ ไหว้ครูดนตรี ไหว้ครูโหราศาสตร์ ไหว้ครูแพทย์แผนไทย เป็นต้น ซึ่งแต่ละอย่างก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไป เมื่อเอ่ยถึง พิธีไหว้ครู เรามักจะหมายถึง การไหว้ครูในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำในช่วงเปิดภาคการศึกษา

ประวัติความเป็นมา

วันครู ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ.2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครู และครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้ และความสามัคคีของครู

ทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา เป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา

พ.ศ.2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป.พิบูล สงคราม นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า

"ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรมีสักวันหนนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อวันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"

จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ให้มีวันครูเพี่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครูและพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน

คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น วันครู โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2488 เป็น วันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว

งานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญ คือ หนังประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ
 
ประโยชน์ที่ได้รับจากพิธีไหว้ครู

1. สามารถทำให้เกิดความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในฐานะที่เป็นศิษย์มีครูเหมือนกัน

2. สามารถนำวิชาความรู้ที่เรียนมา ไปถ่ายทอดได้ด้วยความมั่นใจ โดยไม่ต้องกลัวว่า "ผิดครู"

3. เป็นการสร้างศิษย์ให้มีความเชื่อมั่นในวิชาความรู้ที่ได้เรียนมา กล้าแสดงออกไม่เก็บตัว

4. ทำให้มีความรู้กว้างขวางและเข้าใจในพิธีกรรมเช่นนี้อย่างชัดเจน

5. เกิดความสบายใจหากได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไป ก็จะได้เป็นการขอขมาครูไปด้วย

 
พานไหว้ครู
 
การเตรียมพานไหว้ครู
 
สมัยก่อน ครูประจำชั้นของแต่ละห้องจะคัดเลือกนักเรียนที่เรียนดีและมีมารยาทเรียบร้อย ผู้ชายหนึ่งคนและผู้หญิงหนึ่งคนเป็นตัวแทนนำพานดอกไม้ไปไหว้ครู และในเย็นวันพุธจะมีการแบ่งหน้าที่กันว่า ในเช้าวันพฤหัสบดี นักเรียนคนใดจะต้องนำอะไรมาโรงเรียนบ้าง เช่น บางคนมีพานเงินหรือพานแก้วก็จะเป็นคนเอาพานมา บางคนเอาทราย หรือดินเหนียวมาใส่พานเพื่อปักดอกไม้ บางคนต้องเอาธูปเทียนมา ส่วนนักเรียนที่เหลือให้ไปช่วยกันหาดอกไม้มา โดยมีดอกไม้ที่กำหนด คือ ดอกมะเขือ หญ้าแพรก ดอกเข็ม และดอกไม้อื่น ๆ เป็นต้น

ตอนเช้าตรู่ วันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันไหว้ครู เด็ก ๆ จะไปโรงเรียนเช้าเป็นพิเศษ เพื่อไปช่วยกันจัดพานดอกไม้ ซึ่งอาจมีการปัก ดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบบ้าน แซมด้วยหญ้าแพรกและดอกมะเขือ โดยที่พานดอกไม้นี้เด็กนักเรียนหญิงจะเป็นคนถือ ส่วนเด็กผู้ชายจะถือธูปเทียนและช่อดอกไม้ ( ช่อดอกไม้หมายถึงดอกไม้ที่หาได้แล้วเอามัดมารวมกัน แซมด้วยหญ้าแพรกและดอกมะเขืออีกเช่นกัน)

จะเห็นว่า พิธีไหว้ครูแต่โบราณไม่มีพิธีรีตรองมากนัก แต่มีความหมายแฝงไว้มากมาย คนโบราณเป็นนักคิดจะทำอะไรก็มักจะผูกเป็นปริศนาที่ลึกซึ้งเอาไว้เสมอ ในพิธีไหว้ครูก็เช่นเดียวกันเครื่องสักการะที่ใช้ในการไหว้ครูนั้น นอกจากธูป เทียน แล้วยังมีข้าวตอก ดอกมะเขือ ดอกเข็ม และหญ้าแพรก ซึ่งเป็นของหาง่ายและมีความหมาย
 
ความหมายของดอกไม้ต่าง ๆ ที่นิยมใช้ในการไหว้ครู
ดอกมะเขือ เป็นดอกที่โน้มต่ำลงมาเสมอ ไม่ได้เป็นดอกที่ชูขึ้น คนโบราณจึงกำหนดให้เป็นดอกไม้สำหรับไหว้ครู ไม่ว่าจะเป็นครูดนตรี ครูมวย ครูสอนหนังสือ ก็ให้ใช้ดอกมะเขือนี้ เพื่อศิษย์จะได้อ่อนน้อมถ่อมตนพร้อมที่จะเรียนวิชาความรู้ต่าง ๆ นอกจากนี้มะเขือยังมีเมล็ดมาก ไปงอกงามได้ง่ายในทุกที่ เช่นเดียวกับ หญ้าแพรก

หญ้าแพรก เป็นหญ้าที่เจริญงอกงาม แพร่กระจายพันธ์ ไปได้อย่างรวดเร็วมาก หญ้าแพรกดอกมะเขือจึงมีความหมายซ่อนเร้นอยู่ คนโบราณจึงถือเอาเป็นเคล็ดว่า ถ้าใช้หญ้าแพรกดอกมะเขือไหว้ครูแล้ว สติปัญญาของเด็กจะเจริญงอกงามเหมือนหญ้าแพรกและ ดอกมะเขือนั่นเอง

ข้าวตอก เนื่องจากข้าวตอกเกิดจากข้าวเปลือกที่คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ ให้ร้อนเสมอกันจนถึงจุดหนึ่งที่เนื้อข้างในขยายออก จนดันเปลือกให้แยกออกจากกัน ได้ข้าวสีขาวที่ขยายเม็ดออกบาน ซึ่งสามารถนำไปประกอบพิธีกรรม หรือทำขนมต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ข้าวตอกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้านของตัวเองได้ ก็จะเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วออกจากข้าวเปลือก

ดอกเข็ม เพราะดอกเข็มนั้นมีปลายแหลม สติปัญญาจะได้แหลมคมเหมือนดอกเข็ม และก็อาจเป็นได้ว่า เกสรดอกเข็มมีรสหวาน การใช้ดอกเข็มไหว้ครู วิชาความรู้จะให้ประโยชน์กับชีวิต ทำให้ชีวิตมีความสดชื่นเหมือนรสหวานของดอกเข็ม
 
 
 
 

วันเด็ก+คำขวัญวันเด็ก

 

วันเด็กแห่งชาติ

 

วันเด็กแห่งชาติในประเทศไทย ตรงกับวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปี เป็นวันหยุดราชการที่มิได้ชดเชยในวันทำงานถัดไป มีการให้คำขวัญวันเด็กทุกปีโดยนายกรัฐมนตรีไทย เริ่มต้นจัดงานวันเด็กครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 และได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม เป็นวันเด็กแห่งชาติ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2506 ได้มีมติเปลี่ยนแปลงวันเด็กแห่งชาติมาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม โดยเริ่มจัดงานวันเด็กในปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา

การจัดงานวันเด็ก ปีพุทธศักราช 2498 อันเป็นปีที่ทั่วโลกเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติกันขึ้น ตามความเห็นคล้อยตามกับองค์การสหประชาชาติที่นำปัญหาเรื่องเด็กมาร่างเป็นปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของเด็กขึ้นมา

ประเทศไทยได้รับข้อเสนอของวี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ ผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่า ประเทศไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น ดังที่นานาประเทศกำลังทำอยู่

ขณะนั้น สภาวัฒนธรรมแห่งชาติยังมิได้ถูกยุบเลิกไป คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา ในที่สุดที่ประชุมได้เห็นชอบนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีรับหลักการ ให้จัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการรับไปดำเนินการ ส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดงานนั้น ได้อนุมัติเงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลมาดำเนินการ

ดังนั้น ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ประเทศไทยจึงมีงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นเป็นต้นมา ทางราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติ และจัดติดต่อกันมาจนถึงปี พ.ศ. 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่เพื่อความเหมาะสม ด้วยเหตุผลว่า ในเดือนตุลาคม ประเทศไทยยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็กไม่สะดวกในการมาร่วมงาน ประการต่อมาก็คือ วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้ ตลอดจนการจราจรก็ติดขัด

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสนอ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ปี พ.ศ. 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว

งานวันเด็กแห่งชาติได้เริ่มจัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2508 และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

 

คำขวัญวันเด็ก 2556

 
 
รักวินัย      ใฝ่เรียนรู้
 
เพิ่มพูนปัญญา   นำพาไทยสู่อาเซียน
 
 

การ์ดวันปีใหม่